4 สังเวชนียสถาน สถานที่ทางพุทธประวัติ ที่ชาวพุทธต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต

Credit : GURU เที่ยวอินเดีย
ความหมายของ สังเวชนียสถานสังเวชนียสถาน (อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน) แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ

สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น

พร ะพุทธดำรัสเกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔

ณ พระแท่นบรรทม หรือเตียงปรินิพพานนั้นเอง พระพุทธองค์ได้ทรงปรารถเรื่องรา่วต่างๆ หลายเรื่องกับพระอานนท์พุทธอุปัฎฐากรวมทั้งเรื่อง สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบล จากในมหาปรินิพพานสูตร พอสรุปได้ดังนี้

ครั้งนั้นพระอานนท์เถรเจ้าได้กราบทูลพระองค์ว่า ในกาลก่อนภิกษุทั้งหลายที่ได้แยกย้ายกันไปจำพรรษาอยู่ตามชนบทในทิศต่างๆ เมื่อสิ้นไตรมาศครบ ๓ เดือนตามวินัยนิยมหรืออกพรรษาแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ย่อมจะเดินทางมาเฝ้าพระองค์เป็นอาจิณวัตร ก็เพื่อจะได้เห็นจะได้เข้าใกล้ จะได้อุปัฎฐากพระองค์ อันจะทำให้เกิดความเจริญทางจิต ก็มาบัดนี้เมื่อกาลแห่งการล่วงไปแห่งพระองค์แล้ว ก็แล้วข้าพระองค์ทั้งหลายก็จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้นั่งใกล้ จะไม่ได้สากัจฉา(สนทนาธรรม) เหมือนกับสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอีกต่อไป

เมื่อพระอานนท์กราบทูลดังนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าได้ทรงแสดงสถานที่ ๔ ตำบลว่าเป็นสิ่งที่ควรจะดู ควรจะได้เห็น ควรจะเกิดสังเวช (ความสลดใจกระตุ้นเตือนจิตใจให้คิดกระทำแต่สิ่งดีงาม) แก่กุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา คือ

       ๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้วคือ ประสูติจากพระครรภ์มารดา ตำบลหนึ่งคืออุทยานลุมพินี         ๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตำบลหนึ่งคือ ควงไม้โพธิ์ พุทธคยา         ๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไป หรือแสดงปฐมเทศนาตำบลหนึ่ง คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียก สารนาถ)         ๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุตำบลหนึ่ง คือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันเรียก กาเซีย) ให้เกิดความสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา

อนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธามายังสถานที่ ๔ ตำบลนี้ ด้วยมีความเชื่อว่า พระตถาคตเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไปแล้ว ณ สถานที่นี้ และพระตถาคตเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทเสสนิพพานธาตุแล้ว ณ สถานที่นี้

ดูก่อนอานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใด เจติยจาริกของพระตถาคตเจ้าทั้ง ๔ ตำบลนี้แล้ว จักเป็นคนเลื่อมใส เมื่อกระทำกาลกิริยา(ตาย)ลง ชนทั้งหลายเหล่านั้น จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความ ๔ ตำบลว่าเป็นที่ควรเห็น ควรดู ควรให้เกิดสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธาด้วยประการฉะนี้แล

นี้เองเป็นที่มาของสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในดินแดนพุทธภูมิ ที่ชาวพุทธทั้งหลายสมควรอย่างยิ่งที่จะไปนมัสการ กราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ลุมพินีวัน ลุมพินีวัน

สถานที่ประสูติ : ลุมพินีวัน, เนปาล

ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ : ลุมพินีวัน, เนปาล

       ลุมพินีวัน เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โคตรมะ (Siddhartha Gautama) ซึ่งเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ศากยะ (Shakya) ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาลลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้ปัจจุบันลุมพินีวันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดียทางเหนือเมืองโคราฆปุระ ห่างจากสิทธารถนคร (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า รุมมินเด มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี  ที่นี่นับเป็นสถานที่แสวงบุญของผู้คนทั่วโลกที่มีศรัทธาในพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นสังเวชนียสถาน 1 ใน 4 แห่ง ที่เล่าพุทธศาสนิกชนต่างเดินทางมาเพื่อสักการบูชาสถานที่ประสูติของพระองค์

ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

   “ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ” แปลว่า: “ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ”— วิสุทฺธชนวิลาสินี ๑, หน้า ๖๔  
       หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเองลุมพินีวัน เสาพระเจ้าอโศกมหาราชเครื่องหมายสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีวัน

จุดแสวงบุญของ ลุมพินีวัน

ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ “เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช” ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี “วิหารมายาเทวี” ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ

ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น “พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก” ซึ่งเป็นดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ

ในปี พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า” ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี อีกด้วย

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒พุทธคยา พุทธคยา

สถานที่ตรัสรู้ : พุทธคยา

ลุมพินีวัน

       พุทธคยานับเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมา จึงเพี้ยนเป็น อุเรล ปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545พุทธคยาในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ทรงตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

   ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า “ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร” ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.— ‘สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑’  
       เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลกหลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่า “อานันทโพธิ์” และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสู้ในพุทธกาล

จุดแสวงบุญของพุทธคยา

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ

ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ “พระมหาโพธิเจดีย์” อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน “พระพุทธเมตตา” พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก “พระแท่นวัชรอาสน” แปลว่า พระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น

ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงพิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ปัจจุบัน พุทธคยานับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมานมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา และสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓สารนาถ สารนาถ

สถานที่ปฐมเทศนา : สารนาถ

ลุมพินีวัน วัดมูลคันธกุฏีวิหาร ที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก

       สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ คือ สถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่พระตถาคตเจ้าทรงยังพระอนุตรธัมจักให้เป็นไป สถานที่นี้อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกสารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรสารนาถในสมัยพุทธกาล

สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะและบริวารของท่าน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า

   …ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง…— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕  
       และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้นซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว

ยสสถูป ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก

จุดแสวงบุญของสารนาถ

ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น

๑. ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา         ๒. ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก พร้อมกับบิดาของท่านที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นอุบาสกคนแรกของโลก         ๓. รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ         ๔. พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก         ๕. ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ “สตฺยเมว ชยเต” (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง “ความจริงชนะทุกสิ่ง”) และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย

บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔กุสินารา กุสินารา

สถานที่ปรินิพพาน : กุสินารา

สาลวโนทยา มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยา

       สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ คือ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุาทิเสสนิพพานธาตุดับไม่มีส่วนเหลือ คือทั้งกิเลส ทั้งเบญจขันธ์ดับหมด ตามปกติพระอรหันต์ทั่วไปๆไปจะนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกนั้นเป็นการดับกิเลส ส่วนเบญจขันธ์ยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่จิตเข้าสู่แดนพระนิพพานเท่านั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์แล้ว ดังเช่นพระพุทธเจ้า นิพพานครั้งแรกนี้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ส่วนนิพพานครั้งที่ ๒ ก็คือ อนุปาทิเสสนิกุสินารา ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

กุสินาราในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “โกสินารกา” และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “ปาเวยยมัลลกะ” ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต— พระอานนท์  
       สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า “อุปวตฺตนสาลวนํ” หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพานการที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่ประดิษฐานพระพุทธบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ

จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน

ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ

๑. “สถูปปรินิพพาน” เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอดมน มีฉัตรสามชั้น         ๒. “มหาปรินิพพานวิหาร” ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง         ๓. “มกุฏพันธนเจดีย์” อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี

ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่ ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน